แชร์

16 กลุ่มยาสามัญประจำบ้านที่ควรมีติดไว้

อัพเดทล่าสุด: 5 เม.ย. 2025
96 ผู้เข้าชม

ยารักษาโรค นับได้ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพราะไม่ว่าจะเพศหรือวัยไหนก็สามารถเจ็บป่วยหรืออาจเกิดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้ตลอดเวลา การมี 'ยาสามัญประจำบ้าน' ติดไว้จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดูแลรักษาและบรรเทาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยด้วยตนเองได้ วันนี้ CR Medical Center มี 16 กลุ่มยารักษาโรคพื้นฐานที่ควรมีติดบ้านมาฝากกัน


ยาสามัญประจำบ้านคืออะไร ?


ยาสามัญประจำบ้าน (Household Remedy) คือ ยาที่กระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาเอาไว้ว่าเป็นยาที่เหมาะสม ที่สามารถให้ประชาชนหาซื้อมาใช้ได้เองตามร้านขายยาทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ เพื่อใช้รักษาอาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ ยาสามัญประจำบ้านจะแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ (1) ยาที่ใช้สำหรับภายใน ได้แก่ ยาสำหรับรับประทานและยาฉีด (2) ยาที่ใช้สำหรับภายนอก ได้แก่ ยาทา ยาหยอด ยาดม ยาล้างบาดแผล เป็นต้น

ซึ่งทางกองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคได้ให้คำแนะนำไว้ว่า ผู้บริโภคควรเลือกซื้อจากร้านที่มีใบอนุญาตขายยา จัดยาโดยเภสัชกร หรือซื้อจาก ร้านยาคุณภาพ  และควรสังเกตฉลากยาโดยต้องแสดงเลขทะเบียนตำรับยา เช่น Reg. No. 1A 12/35 (กรณียาแผนปัจจุบัน) และฉลากจะต้องมีคำว่า ยาสามัญประจำบ้าน อยู่ในกรอบสีเขียว ชื่อยา วิธีการใช้ยา คำเตือน วันเดือนปีที่ผลิตหรือวันเดือนปีหมดอายุ ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต รวมทั้งควรสังเกตภาชนะที่บรรจุยาต้องอยู่ในสภาพเรียบร้อย ยาที่บรรจุอยู่ในสภาพดี สมบูรณ์ ทั้งนี้ ควรเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและแสงแดด และควรเก็บแยกกันระหว่างยาใช้ภายในและยาใช้ภายนอก


16 กลุ่มยาสามัญประจำบ้าน

ยาสามัญประจำบ้านหรือยารักษาโรคพื้นฐานแผนปัจจุบันตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข มีดังนี้

กลุ่มที่ 1 ยาแก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ
  • ยาทาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ทิงเจอร์มหาหิงคุ์
  • ยาน้ำแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ โซเดียมไบคาร์บอเนต
  • ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ยาธาตุน้ำแดง
  • ยาขับลม
  • ยาเม็ดแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ โซดามินท์
  • ยาน้ำลดกรด อะลูมินา-แมกนีเซีย
  • ยาเม็ดลดกรด อะลูมินา-แมกนีเซีย
กลุ่มที่ 2 ยาแก้ท้องเสีย
  • ยาแก้ท้องเสีย ผงน้ำตาลเกลือแร่
กลุ่มที่ 3 ยาระบาย
  • ยาระบายโซเดียม คลอไรด์ ชนิดสวนทวาร
  • ยาระบายมะขามแขก
  • ยาระบายกลีเซอรีนชนิดเหน็บทวารสำหรับผู้ใหญ่
  • ยาระบายกลีเซอรีนชนิดเหน็บทวารสำหรับเด็ก
  • ยาระบายแมกนีเซีย
กลุ่มที่ 4 ยาถ่ายพยาธิลำไส้
  • ยาถ่ายพยาธิตัวกลม มีเบนดาโซล
กลุ่มที่ 5 ยาบรรเทาปวด ลดไข้
  • ปลาสเตอร์บรรเทาปวด
  • ยาน้ำบรรเทาปวด ลดไข้พาราเซตามอล
  • ยาเม็ดบรรเทาปวด ลดไข้พาราเซตามอล 325 มก.
  • ยาเม็ดบรรเทาปวด ลดไข้แอสไพริน
  • ยาเม็ดบรรเทาปวด ลดไข้พาราเซตามอล 500 มก.
กลุ่มที่ 6 ยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก
  • ยาเม็ดแก้แพ้ ลดน้ำมูก คลอร์เฟนิรามีน
กลุ่มที่ 7 ยาแก้ไอ ขับเสมหะ
  • ยาน้ำแก้ไอขับเสมหะสำหรับเด็ก
  • ยาแก้ไอน้ำดำ
กลุ่มที่ 8 ยาดมหรือทาแก้วิงเวียน หน้ามืด คัดจมูก
  • ยาทาระเหยบรรเทาอาการคัดจมูกชนิดขี้ผึ้ง
  • ยาดมแก้วิงเวียน แก้คัดจมูก
  • ยาดมแก้วิงเวียน เหล้าแอมโมเนียหอม
กลุ่มที่ 9 ยาแก้เมารถ เมาเรือ
  • ยาเม็ดแก้เมารถ เมาเรือ ไดเมนไฮดริเนท
กลุ่มที่ 10 ยาสำหรับโรคตา
  • ยาล้างตา
  • ยาหยอดตา ซัลฟาเซตาไมด์
กลุ่มที่ 11 ยาสำหรับโรคปากและลำคอ
  • ยาอมบรรเทาอาการเจ็บคอ
  • ยาอมบรรเทาอาการระคายค
  • ยาแก้ปวดฟัน
  • ยารักษาลิ้นเป็นฝ้า เยนเซี่ยนไวโอเลต
  • ยากวาดคอ
กลุ่มที่ 12 ยาใส่แผล ล้างแผล
  • น้ำเกลือล้างแผล
  • ยาเอทิล แอลกอฮอล์
  • ยาไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์
  • ยาใส่แผล โพวิโดน-ไอโอดีน
  • ยาใส่แผล ทิงเจอร์ไทเมอรอซอล
  • ยาใส่แผล ทิงเจอร์ไอโอดีน
กลุ่มที่ 13 ยารักษาแผลติดเชื้อ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
  • ยารักษาแผลติดเชื้อ ซิลเวอร์ ซัลฟาไดอาซีน ครีม
  • ยารักษาแผลน้ำร้อนลวกฟีนอล
กลุ่มที่ 14 ยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ แมลงกัดต่อย
  • ยาหม่อง ชนิดขี้ผึ้ง
กลุ่มที่ 15 ยาสำหรับโรคผิวหนัง
  • ยารักษาเกลื้อน โซเดียม ไทโอซัลเฟต
  • ยาทาแก้ผดผื่นคัน คาลาไมน์
  • ยารักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง
  • ยารักษากลากเกลื้อน น้ำกัดเท้า
  • ยารักษาหิด ขี้ผึ้งกำมะถัน
  • ยารักษาหิด เหา เบนซิล เบนโซเอต
กลุ่มที่ 16 ยาบำรุงร่างกาย
  • น้ำมันตับปลาชนิดน้ำ
  • น้ำมันตับปลาชนิดแคปซูล
  • ยาเม็ดวิตามินรวม
  • ยาเม็ดบำรุงโลหิต เฟอร์รัส ซัลเฟต
  • ยาเม็ดวิตามินซี
  • ยาเม็ดวิตามินบีรวม


นอกจากนี้จะเป็นกลุ่มยาสามาัญประจำบ้านเหล่านี้แล้ว สิ่งที่ควรมีติดบ้านไว้ก็คือ อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น (ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน) เช่น สำลี ปลาสเตอร์ปิดแผล ผ้าก๊อซ เทปปิดแผล เป็นต้น


วิธีสังเกตก่อนเลือกซื้อยาสามัญประจำบ้าน

  • เลือกซื้อจากร้านยาที่มีใบอนุญาตขายยา และจัดยาโดยเภสัชกร
  • เลือกซื้อยาที่มีการรับรองมาตรฐานจาก อย. สามารถตรวจสอบแหล่งผลิต วันเดือนปีที่หมดยาอายุ ที่ปรากฏอยู่บนบรรจุภัณฑ์
  • เลือกซื้อยาที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สมบูรณ์สภาพดี ยาเม็ดไม่แตกหัก รูปทรงไม่บิดเบี้ยว ไม่มีจุดหรือสีหรือกลิ่นที่แปลกจากเดิม ยาน้ำต้องไม่มีตะกอน แต่หากเขย่าแล้วตะกอนจะต้องกระจายตัว
  • ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง และควรแจ้งประวัติการแพ้ยาหรือแพ้อาหารให้รับทราบด้วย


วิธีใช้ยาสามัญประจำบ้านให้ปลอดภัย


  • ก่อนใช้ควรอ่านฉลากยาและเอกสารกำกับตัวยาทุกครั้ง และตรวจสอบวันหมดอายุก่อนใช้งาน
  • สังเกตลักษณะตัวยา กลิ่น สี หากพบความผิดปกติหรือไม่แน่ใจไม่ควรรับประทานหรือใช้ยา
  • อ่านและศึกษาคำเตือนข้อห้ามของการใช้ยาอย่างเคร่งครัด เช่น ยานี้ไม่ควรใช้กับใคร ไม่ควรรับประทานร่วมกับยาชนิดไหน ควรเว้นระยะเท่าไหร่ หรือไม่ควรใช้ติดต่อกันเกินกี่วัน
  • ควรใช้ยาให้ถูกต้องและเหมาะสมกับโรค ถูกขนาดปริมาณ ถูกวิธี และถูกช่วงเวลาการกินหรือใช้งานที่ระบุ เช่น ก่อนหรือหลังอาหาร เป็นต้น
  • หากรับประทานแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือ มีอาการแพ้ยารุนแรง เช่น มีผื่นแดง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ ท้องเสีย เหนื่อยหอบ หายใจไม่ทั่ว หัวใจเต้นเร็ว ควรหยุดยาและไปพบแพทย์ทันที


วิธีเก็บยาสามัญประจำบ้าน


  • ควรจัดเก็บยาประเภทที่ใช้ภายในและประเภทภายนอกแยกจากกัน เพื่อป้องกันการหยิบใช้ยาผิดประเภท และเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการหยิบใช้
  • จัดเก็บยาพร้อมฉลากยาที่ได้รับมาคู่กัน ไม่นำยาชนิดอื่นมาปะปนกัน
  • กรณียาแผง ควรเก็บยาไว้ในแผงเดิม และให้แกะยาออกจากแผงเมื่อจะกินในแต่ละครั้งเท่านั้น
  • ยาบางชนิดควรเก็บให้พ้นแสงแดด ความชื้น ปิดฝาให้สนิททุกครั้ง เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพ
  • ควรเก็บยาไว้ในที่แห้งหรืออุณหภูมิที่ระบุไว้ในเอกสารกำกับยา โดยยาบางชนิดอาจระบุว่าให้เก็บไว้ในตู้เย็น
  • ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก และควรหมั่นตรวจสอบวันหมดอายุของยาที่เก็บ หากพบยาที่หมดหรือใกล้หมดอายุ ควรทิ้งทันที
  • ควรรักษาฉลากยาไม่ให้ลอกหรือเลือน มีข้อมูลชัดเจน เพื่อการใช้ยาอย่างถูกต้อง


สรุป

ยาสามัญประจำบ้านแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ ยาที่ใช้สำหรับภายใน และ ยาที่ใช้สำหรับภายนอก ปัจจุบันได้มีการจัดแบ่งยาสามัญประจำบ้านออกเป็น 16 กลุ่ม เป็นยารักษาโรคขั้นพื้นฐานที่กระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาเอาไว้ว่าเป็นยาที่เหมาะสม ประชาชนหาซื้อมาใช้ได้เองตามร้านขายยาทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ เพื่อใช้รักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บปวดเบื้องต้น ทั้งนี้ จะต้องเลือกซื้อ ศึกษา และใช้ยาด้วยความระมัดระวัง และควรมีการปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ทุกครั้ง



 

 

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค / กองยา / Kapook.com


บทความที่เกี่ยวข้อง
8 โรคที่มากับหน้าร้อน รู้ก่อนพร้อมรับมือ
เข้าสู่ช่วงฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว นอกจากจะเจอกับอากาศที่แสนจะร้อนแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราทุกคต้องควรระวังให้มากนั่นก็คือ โรคที่มักจะเกิดในฤดูร้อน ที่สำคัญควรมีการเตรียมพร้อมยาสามัญประจำบ้านเอาไว้ เผื่อเกิดเหตุหรืออาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อใช้รักษาหรือบรรเทาอาการได้ทันท่วงที
5 เม.ย. 2025
8 อุปกรณ์พื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุที่ควรมีติดบ้านไว้
การดูแลผู้สูงอายุในบ้านนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญและใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการมองหาอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่จะมีบทบาทสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ ที่จะใช้ดูแลตัวเองในกิจวัตรประจำวันนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน ตลอดจนยังช่วยผ่อนแรงให้แก่ผู้ดูแลได้อีกด้วย ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเอาไว้อยู่เสมอจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
10 มี.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy