8 โรคที่มากับหน้าร้อน รู้ก่อนพร้อมรับมือ
เข้าสู่ช่วงฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว นอกจากจะเจอกับอากาศที่แสนจะร้อนแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราทุกคต้องควรระวังให้มากนั่นก็คือ โรคที่มักจะเกิดในฤดูร้อน ซึ่งในสภาพอากาศร้อน ๆ เช่นนี้จะเป็นแหล่งเจริญเติบโตของเชื้อโณคหรือเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้ดีมาก ๆ ซึ่งอาจนำมาสู่การเกิดโรคต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้
1. โรคลมแดด หรือ Heat Stroke

เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป โดยร่างกายจะมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ทำให้ไม่สามารถระบายความร้อนได้ทัน ร่วมกับอาการทางระบบประสาท โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของร่างกาย เช่น ซึม สับสน บางทีอาจถึงขั้นชักและหมดสติได้
อ่านบทความเพิ่มเติม : โรคลมแดด (Heat Stroke) ภัยอันตรายในหน้าร้อนที่ควรระวัง!
2. โรคอาหารเป็นพิษ

เกิดจากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงอาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ ผู้ป่วยจะมีอาการท้องร่วง คลื่นไส้ ปวดท้อง ลำไส้อักเสบ และอาจมีไข้ ปวดศีรษะร่วมด้วย
3. โรคอุจจาระร่วง
เกิดจากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรค การล้างมือไม่สะอาด ใช้มือหยิบจับของที่ปนเปื้อนเชื้อแล้วนำเข้าปาก ส่งผลให้เกิดภาวะถ่ายอุจจาระเหลวหลายครั้งติดต่อกันใน 1 วัน และอาจมีอาเจียนร่วมด้วย
4. โรคบิด
เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อแบคทีเรียหรืออะมีบา ซึ่งสามารถติดต่อผ่านการรับประทานอาหาร ผักดิบ รวมถึงน้ำที่มีการปนเปื้อน โดยผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายอุจจาระบ่อย หรือมีมูกเลือดปน และมักมีไข้ด้วย
5. โรคไทฟอยด์ หรือ โรคไข้รากสาดน้อย
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Typhi ที่ปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้เฉียบพลัน ท้องเสีย หรือท้องผูก ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย
6. โรคไวรัสตับอักเสบ A
ติดต่อผ่านทางอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือรับประทานอาหารที่ไม่ได้ปรุงสุก ส่งผลให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันของตับ มีอาการอ่อนเพลียและเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะเข้ม ตาเหลือง ตัวเหลือง โดยโรคนี้สามารถติดต่อผ่านคนสู่คนได้
7. โรคอหิวาตกโรค
เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำคราวละมาก ๆ อาจมีอาการขาดน้ำและเกลือแร่อย่างฉับพลัน จนเกิดภาวะช็อก หมดสติ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
8. โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ
เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีอยู่ในน้ำลายของสัตว์ สามารถติดเชื้อได้จากการโดนสุนัขหรือแมวกัด หรือถูกเลียในบริเวณที่เป็นแผล หากถูกกัดให้รีบทำความสะอาดแผล และรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันทันที
สังเกตได้ว่าโรคที่มากับฤดูร้อนนั้นจะเกี่ยวข้องกับ โรคทางเดินอาหาร เป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้น ควรที่จะดูแลเรื่องอาหารการกินอย่างเคร่งครัด ควรรับประทานหรือดื่มเครื่องดื่มที่ผ่านกรรมวิธีปลอดภัย ปรุงสุก สด สะอาดอยู่เสมอ และอย่าลืมดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ ที่สำคัญควรมีการเตรียมพร้อม ยาสามัญประจำบ้าน เอาไว้ เผื่อเกิดเหตุหรืออาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อใช้รักษาหรือบรรเทาอาการได้ทันท่วงที และหากอาการรุนแรงขึ้นควรไปพบแพทย์ในทันที ด้วยความหวังดีจาก CR Medical Center
อ่านบทความเพิ่มเติม : 16 กลุ่มยาสามัญประจำบ้านที่ควรติดไว้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลศิครินทร์